โรงพิมพ์พบว่าหลาย ๆ ครั้งที่ลูกค้าทำงานส่งโรงพิมพ์มานั้น ไม่ได้ทำตัดตกมาให้ด้วย ซึ่งทำให้โรงพิมพ์ต้องแจ้งกลับลูกค้าเพื่อกลับไปแก้ไขอีกรอบ ทำให้เป็นการเสียทั้งแรงและเวลาของลูกค้าไปนะครับ ซึ่งถ้าก่อนจะเริ่มออกแบบงานทุกงาน เราเตรียมตั้งค่าพื้นที่ตัดตกไว้ ก็จะเป็นการประหยัดเวลาไปได้เยอะ ไม่ต้องกลับมาแก้ไขงานทีหลัง เพราะยังไงพื้นที่ตัดตก เผื่อเจียนนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ไม่มีไม่ได้เด็ดขาด
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในกระบวนการพิมพ์ก่อนเล็กน้อยว่าจริง ๆ แล้วเวลาโรงพิมพ์ พิมพ์งานออกมาไม่ได้เป็นขนาดสำเร็จรูปนะครับ แต่จะมีขอบกระดาษเพื่อเอาไว้ให้กริปเปอร์เครื่องพิมพ์จับกระดาษเวลาทำงาน รวมไปถึงไกด์สีและข้อมูลอื่น ๆ สำหรับช่างพิมพ์ ดังนั้น พิมพ์งานเสร็จแล้ว จะส่งให้ลูกค้า ก็จะต้องมีการตัดขอบกระดาษส่วนนี้ทิ้งไป การตัดแบบนี้จะทำให้งานที่ออกมา มีขอบเรียบเสมอกัน มีขนาดเท่ากันทุก ๆ เล่มที่พิมพ์ครับ
ภาพที่ 1 : ตัวอย่างงานโปสเตอร์ที่กำลังขึ้นแท่นตัด เพื่อตัดขอบกระดาษส่วนเกินทิ้ง จะสังเกตเห็นได้ว่า ขนาดกระดาษก็ไม่ได้เท่ากันทุกแผ่น
เมื่อทำการตัดกระดาษแล้ว แน่นอนว่าเราไม่สามารถตัดตรงขอบงาน (ในภาพจะเป็นรอยต่อสีขาวและม่วง) แบบเป๊ะ ๆ ได้ แถมงานที่พิมพ์ออกมาทั้งหลายพันหลายหมื่นแผ่น ก็ไม่ได้ตรงกันเป๊ะทุกแผ่นนะครับ ไม่ว่าจะพิมพ์ด้วยระบบดิจิตอลหรือออฟเซ็ต หรือพิมพ์ด้วยเครื่องจักรล้ำสมัยขั้นเทพเพียงใด ก็ไม่สามารถทำให้ตรงกันได้ทุกแผ่นครับ สิ่งนี้จำเป็นมาก ๆ นะครับ และนักออกแบบส่วนใหญ่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานกับโรงพิมพ์มาก่อนจะไม่รู้ งานที่ไม่ได้เผื่อตัดตก บางครั้งจะทำให้มีขอบขาว ๆ เกิดขึ้นเวลาพิมพ์งานจริง กระดาษบางแผ่นอาจจะมีเนื้องานขอบขาวยื่นล้ำเข้าไปได้ ดังนั้นเวลาออกแบบกราฟฟิคอาร์ตเวิร์ค นักออกแบบจะต้องเผื่อระยะตัดตกมาไว้เสมอ โดยปกติแล้วทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. จะแจ้งลูกค้าก่อนว่างานที่ทำมาไม่ได้เผื่อตัดตกไว้ ถ้าลูกค้าไม่ได้เผื่อตัดตกมาให้ทางโรงพิมพ์ ในกรณีนี้อาจจะมีขอบงานสีขาวแลบเข้าไปในเนื้อโปสเตอร์ได้ครับ
ภาพที่ 2 : เมื่อตัดเจียนงานทิ้งแล้ว ขอบกระดาษก็จะเรียบเนียนกริบ เท่ากับเป๊ะทุกแผ่น แถมตัวโปสเตอร์สีม่วงก็ไม่มีขอบขาวแลบออกมาด้วย
ดู VDO สาธิตการตัดเจียนงานได้ที่นี่
ระยะตัดตกกับงานหนังสือเล่ม
ถ้าถามว่าระยะตัดตกนี้ ใช้กับงานอะไรบ้าง ก็ต้องตอบว่าใช้กับงานทุกประเภทที่พิมพ์โดยเครื่องพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นระบบออฟเซ็ทหรือระบบดิจิตอลก็ตาม ลองมาดูงานหนังสือกันบ้างนะครับว่าระยะตัดตกนี้ มีผลอย่างไรบ้างกับงานที่เป็นหนังสือรูปเล่ม เวลาโรงพิมพ์พิมพ์งานหนังสือจะไม่ได้พิมพ์ทีละหน้า แต่จะพิมพ์เป็นยกแล้วนำแต่ละยกมาพับเพื่อรอทำการเข้าเล่มอีกทีนึง รูปตัวอย่างที่นำมาแสดงนี้ เป็นการเข้าเล่มแบบเย็บมุงหลังคา ดังนั้นเมื่อพับงานแต่ละยกมาเสร็จแล้ว ก็จะนำมาซ้อนกันเพื่อรอเข้าสู่กระบวนการเย็บเล่มอีกที
ภาพที่ 3 : งานพิมพ์ที่ออกจากเครื่องพิมพ์ขนาด A4 พิมพ์ทีละ 8 หน้า
ภาพที่ 4 : งานที่พับแล้วเตรียมนำมาซ้อนกันเพื่อรอการเย็บ สังเกตว่าขอบกระดาษที่ติดมาร์คการพิมพ์ก็ยังอยู่
ภาพที่ 5 : หนังสือที่เก็บเล่มแล้วรอการเย็บ จะเห็นได้ว่ายังมีขอบกระดาษอยู่ทั้งสองด้าน ซ้ายและขวาของรูปเล่ม
เมื่อทำการเย็บเล่มแล้ว ก็จะต้องมีการตัดเจียนรูปเล่มรอบด้านให้เป็นงานสำเร็จ งานหนังสือที่พับมาถ้าไม่ตัดขอบ 3 ด้าน ก็จะเปิดอ่านเป็นหน้าไม่ได้น่ะครับ (แน่ล่ะ เพราะมีอย่างน้อย 1-2 ด้านที่ถูกพับมา) ระยะตัดตกที่ลูกค้าเผื่อมานั้นจะทำให้งานที่ออกมามีความสมบูรณ์ 100% ไม่มีขอบขาวแลบเข้าไปในเนื้องาน เนื้องานและรูปภาพถูกพิมพ์เต็มพื้นที่ของกระดาษ ตรงนี้มีข้อควรระวังสำหรับลูกค้าและนักออกแบบทุกท่านนิดนึงนะครับ ก็คือเราไม่ควรที่จะวางเนื้อหาสำคัญของหนังสือไว้ชิดขอบกระดาษมากจนเกินไป เพราะมีโอกาสที่ตัวหนังสือ รูปภาพ ข้อความสำคัญที่วางไว้ชิดขอบกระดาษจะถูกตัดออกระหว่างการเจียนรูปเล่ม คำว่ามีโอกาสในที่นี้คือ อาจจะมีบางเล่มโดนตัด บางเล่มไม่โดน โดนตัดทุกเล่ม หรือไม่โดนตัดซักเล่มเลยก็ได้นะครับ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย วางเนื้อหาสำคัญห่างจากขอบงานไว้ซักหน่อยนะครับ ว่าด้วยเรื่องการวางงานนี้ แนะนำให้ลูกค้าและนักออกแบบทุกท่านอ่านบทความ เกี่ยวกับการวางงานบนหน้ากระดาษของทางโรงพิมพ์ประกอบด้วยครับ
ภาพที่ 6 : ภาพเปรียบเทียบงานก่อนตัดรูปเล่ม และงานที่สำเร็จสมบูรณ์แล้ว จะเห็นได้ว่าขอบกระดาษถูกตัดออกไปพอสมควรเลยทีเดียว
ภาพที่ 7 : ภาพเปรียบเทียบงานก่อนตัดรูปเล่ม และงานที่สำเร็จสมบูรณ์แล้ว
ภาพที่ 8 : ภาพเปรียบเทียบงานก่อนตัดรูปเล่ม และงานที่สำเร็จสมบูรณ์แล้ว
ระยะตัดตกควรจะเผื่อให้เท่าไหร่ดี
โดยปรกติทั่วไปแล้ว ถ้าเป็นหนังสือไสกาว / เย็บกี่ไสกาว โดยทั่วไประยะตัดตกควรจะเว้นไว้ไม่ต่ำกว่า 3 มม. เป็นอย่างน้อย แต่ก็มีหลายกรณีที่ควรจะเว้นระยะตัดตกมาให้มากขึ้น โดยเฉพาะหนังสือที่เข้าเล่มแบบเย็บมุงหลังคา ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? เพราะว่าหนังสือที่เข้าเล่มแบบเย็บมุงหลังคา ถ้าหนังสือมีความหนามาก เวลาพับเพื่อทำการเข้าเล่มแล้ว หน้าที่อยู่คู่ในสุดกับหน้าที่อยู่คู่นอกสุด (ปกหนังสือ) จะอยู่ห่างกันถึง 5-6 มม. เลยทีเดียว ในกรณีนี้ ระยะตัดตกก็ควรจะมีประมาณ 5-6 มม.เช่นกัน
อันเนื่องมาจากจำนวนหน้าที่เยอะของหนังสือนี่เอง ทำให้การเข้าเล่มแบบเย็บมุงหลังคาไม่ควรใช้กับหนังสือที่มีความหนาเกิน 80 หน้าโดยประมาณ ถ้าหนังสือที่มีความหนาเกิน 80 หน้า ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. แนะนำให้ลูกค้าเข้าเล่มแบบไสกาวจะดีกว่าครับ เพราะถึงแม้เราคิดว่าเราออกแบบ artwork มาดีแล้ว แต่ด้วยความหนาของหนังสือ หน้าด้านในสุดก็มีโอกาสที่เนื้อหาหรือข้อความจะโดนตัดออกไปอยู่สูงทีเดียวครับ
ภาพที่ 9 : หนังสือที่มีความหนามาก ก่อนเข้าเล่มมาร์คตัด ยังตรงกันอยู่
ภาพที่ 10 : หนังสือที่มีความหนามาก เมื่อนำมาเย็บมุงหลังคา หน้าในสุดกับหน้าปกเหลื่อมกันได้ 5-6 มม. เลยทีเดียว
ภาพที่ 11 : เมื่อนำมาสอดเล่มแล้ว จะเห็นได้ว่า หน้าที่อยู่ด้านใน ๆ มีโอกาสตัดโดนตัวหนังสืออยู่ดี
Slug คืออะไร จำเป็นต้องตั้งค่าหรือไม่
ว่าในเรื่องของ Bleed (ตัดตก) ไปแล้ว ก็มาถึงส่วนของ Slug กันบ้างนะครับ Slug จะเป็นพื้นที่ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ใช้งานนอกจากโรงพิมพ์ เพราะมันคือพื้นที่ว่าง ๆ ที่นอกเหนือจากงานพิมพ์ออกไป ใช้เป็นพื้นที่ที่เอาไว้ใส่ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้โรงพิมพ์ทำงานได้ดีขึ้น ในส่วนนี้ลูกค้าไม่ต้องสนใจก็ได้ครับ ตั้งค่าแค่ในส่วนของตัดตกก็เพียงพอแล้ว