เวลาเราเอาภาพถ่ายจากกล้อง  ไม่ว่าจะถ่ายด้วยกล้องมือถือ  หรือกล้อง DSLR มาใช้งาน  หรือบางทีดาวโหลดภาพประกอบมาจากอินเตอร์เนท  เพื่อมาใช้ในงานออกแบบ  เราจะรู้ได้อย่างไรว่าภาพนี้เมื่อพิมพ์ออกมาแล้ว  ชัดหรือไม่ชัด  วันนี้โรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. มีคำตอบครับ

วิธีเช็คงานง่าย ๆ คือ  เมื่อออกแบบงานเสร็จแล้ว  ไม่ว่าลูกค้าจะออกแบบออกมาเป็นไฟล์อะไร (PDF / JPEG / PSD / AI) ให้กดซูมดูที่ 300% ครับ ภาพที่ปรากฎเมื่อซูมเข้าไป 300% คือภาพที่ใกล้เคียงที่สุดเมื่อพิมพ์ออกมาเป็นงานสำเร็จแล้วครับ  ถ้าลูกค้ามีความรู้สึกว่าซูมดูแล้ว  ภาพมันยังไม่ค่อยชัด  ก็หมายความว่าภาพนั้นยังมีความละเอียดไม่พอครับ  โดยมากมักจะเห็นภาพแตกเป็นพิกเซลอย่างชัดเจน  ยิ่งเมื่อนำไปเทียบกับภาพที่คมชัด  จะสามารถเห็นความแตกต่างด้วยตาเปล่าได้ครับ

ทางโรงพิมพ์ทำใบปลิว Mock Up ขึ้นมา 1 ชิ้นในรูปแบบไฟล์ PDF เพื่อสาธิตให้เห็นภาพนะครับ  ลูกค้าสามารถดาวโหลด Mock Up ตัวนี้เพื่อไปลองซูมดูที่เครื่องของลูกค้าได้ครับ  โดย mock up นี้จะมีทั้งหมด 3 ภาพ  แบ่งเป็น

ภาพแรกเป็นภาพที่คมชัดที่สุด

ภาพที่สองเป็นภาพเดียวกับภาพแรก  แต่ถูกปรับลดความคมชัดลงมา

ภาพที่สาม  เป็นภาพมุมใกล้เคียง  ความคมชัดน้อยที่สุด

หากลูกค้าท่านใดดาวโหลดไฟล์ไปแล้วลองซูม 300% แล้วเลื่อนดูตำแหน่งต่าง ๆ ในแต่ละเคส  ก็จะพบว่า  ภาพที่ชัดหรือไม่ชัด  สามารถแยกแยะออกได้ด้วยตาเปล่าจริง ๆ ครับ

ข้อสรุปเกี่ยวกับความชัดของภาพ และการนำไปใช้

สรุปได้ว่า  ข้อแนะนำของโรงพิมพ์เกี่ยวกับการนำภาพมาใช้งานมีดังนี้ครับ

  • ควรเป็นภาพขนาดใหญ่
  • ใหญ่ในที่นี้หมายถึงทั้งขนาดภาพ (จำนวน Pixel เช่นถ่ายจากกล้อง 8M pixel / หรือกว้าง x ยาว 1980 x 1020 pixel เป็นต้น)
  • รวมถึงใหญ่ในแง่ของขนาดไฟล์ด้วย  (ขนาดภาพกับขนาดไฟล์ส่วนใหญ่แล้วจะไปด้วยกัน  เว้นเสียแต่ว่า  เอาภาพเล็กคุณภาพต่ำ  มายืดขยายด้วยโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อให้มีขนาดกว้าง x ยาวใหญ่  ขนาดไฟล์ก็ใหญ่ตาม  แต่ไม่ถือว่าเป็นภาพที่คมชัด)
  • ขนาดของรูปที่ใช้ในงานก็มีผลต่อการเลือกภาพเช่นกัน  แน่นอนว่าถ้ารูปในงานพิมพ์เล็ก  ขนาดภาพที่นำมาใช้ไม่ต้องใหญ่มากก็สามารถคมชัดได้
  • ภาพส่วนใหญ่ที่ถ่ายจากมือถือ  มีความคมชัดแค่พอประมาณ  นำมาใช้ได้  แต่ไม่เหมาะกับการนำมาตกแต่งต่อ  เช่นการถ่ายภาพทั่วไป  แล้วนำมาลงบทความทั้งภาพ  แบบนี้มักจะไม่ค่อยมีปัญหา
  • แต่ถ้านำมือถือไปถ่ายงานที่ต้องมีการ Retouch เพิ่ม  เช่น Packshot สินค้า การถ่ายภาพบุคคลเพื่อนำมาไดคัท  แบบนี้ภาพจากมือถือจะไม่ค่อยเหมาะ  (ยกเว้นว่าถ่ายในสตูดิโอ  หรือมีการจัดแสงเงาที่ดี  จะช่วยได้)
  • ถ้าต้องการส่งภาพให้โรงพิมพ์  อย่านำภาพไปใส่ไว้ใน Microsoft Word หรือ Powerpoint  ภาพที่นำไปใส่จะมีการสูญเสียความคมชัดของภาพไป
  • ภาพจากอินเตอร์เนท  บางภาพติดลิขสิทธิ์  บางภาพเป็นภาพจาก Photo stock  ควรพึงระวังการนำภาพมาใช้ทุกครั้ง  เพื่อป้องกันปัญหาการฟ้องร้องกันขึ้น
  • ภาพถ่ายจากกล้องทั้งหมดเป็นภาพในระบบสี RGB หรือ sRGB  ซึ่งเมื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการพิมพ์  จะต้องมีการแปลงไฟล์ให้เป็นระบบสี CYMK ทุกครั้ง  ซึ่งอาจจะทำให้สีของภาพเพี้ยนไปเล็กน้อยได้  ควรตรวจสอบกับโรงพิมพ์ก่อนทุกครั้งครับ