ปกหนังสือคือหน้าตาที่เห็นเป็นอันดับแรก ว่ากันว่าคนจะหยิบหนังสือหรือไม่ก็วัดกันที่หน้าปกนี่ล่ะ การออกแบบหน้าปกที่ดี ควรต้องคำนึงถึงว่าเมื่อผลิตเป็นงานจริงแล้วหน้าตาจะเป็นอย่างไร ลูกค้าสามารถหยิบหนังสือเล่มใด ๆ ก็ได้ที่ใกล้เคียงกับงานที่ทำอยู่จากชั้นหนังสือมาพิจารณาแล้วลองนึกภาพดูว่า ถ้างานที่เราออกแบบมานั้น ถูกผลิตจริงเป็นหนังสือแบบที่เห็นในมือ จะมีหน้าตาอย่างไร ควรจะเว้นระยะห่างตรงไหน อย่างไรบ้าง จะช่วยได้เยอะครับ แต่สำหรับโรงพิมพ์แล้ว เราก็มักจะพบกับข้อผิดพลาดที่ลูกค้ามักจะทำพลาดมากันบ่อย ๆ ลองมาดูกันว่า 10 เช็คลิตส์ที่ลูกค้าควรเช็คงานให้ดีก่อนปล่อยพิมพ์มีอะไรบ้าง ทั้งนี้ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. ก็จะใช้เช็คลิตส์เหล่านี้ในการตรวจงานเหมือนกันครับ

สำหรับลูกค้าที่ต้องการพิมพ์เช็คลิสต์ไปใช้งาน  สามารถดาวโหลดเช็คลิสต์ได้ที่นี่

1. ขนาดงาน

ควรเซ็ตหน้างานให้ตรงกับขนาดที่ตกลงกันไว้กับโรงพิมพ์ตามใบเสนอราคา หรือติดต่อสอบถามก่อนทุกครั้งหากไม่แน่ใจ ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คส์ขนาด A5 ในขณะที่ขนาด A5 ตามมาตรฐาน ISO จะเป็น 148 x 210 มม. แต่ขนาดสำเร็จในมาตรฐานโรงพิมพ์ในเมืองไทยจะเป็น 145 x 210 มม. โรงพิมพ์จะใช้ขนาด 145 x 210 มม. เป็นหลักนะครับ หรือขนาด A4 ตามมาตรฐาน ISO คือ 210 x 297 มม. แต่มาตรฐานโรงพิมพ์จะเป็น 210 x 292 มม. ดังนั้นขนาดสำเร็จของหนังสือทั้งเนื้อในและหน้าปกก็ควรจะมีขนาดที่ถูกต้องเช่นกัน

แคตตาล็อกสินค้า / Product Catalogs

2. ตัดตก

ปกหนังสือที่ส่งมาให้กับโรงพิมพ์ ควรจะต้องมีการเซ็ตขนาดตัดตกเผื่อเจียนมาไว้แล้ว (ตัดตกเผื่อเจียนคืออะไรอ่านได้จากที่นี่) สำหรับงานไหนที่ทางโรงพิมพ์ไม่สามารถสร้างพื้นที่ตัดตกเองได้ ถ้าตรวจพบ จะแจ้งเตือนลูกค้าให้กลับไปแก้งานใหม่ครับ

ภาพเปรียบเทียบหนังสือก่อนและหลังตัดรูปเล่ม

3. โปรไฟล์สี

งานที่จะส่งพิมพ์ในระบบออฟเซ็ต ต้องใช้ระบบสี CMYK เท่านั้น ภาพหลายภาพที่ลูกค้าดาวโหลดมาจากอินเตอร์เนทนั้นเป็นระบบสี RGB ซึ่งบางครั้งนำมาออกแบบ แต่ไม่ได้แปลงระบบสีมาให้โรงพิมพ์ พอนำมาพิมพ์จริงแล้วสีเพี้ยนนะครับ แนะนำให้ตั้งค่าระบบสีให้ถูกต้องก่อนเริ่มงานทุกครั้งครับ  สำหรับงานที่พิมพ์ปกสีเดียว (ขาวดำ) รูปที่เป็นขาวดำก็ต้องเป็นดำเดี่ยว (Greyscale) ไม่ใช่สีดำ 4 เม็ด

4. ความหนาหนังสือ / ขนาดสัน

ความหนาของหนังสือ (ขนาดสันหนังสือ) จะแปรผันตามจำนวนหน้าหนังสือ และชนิดของกระดาษที่ใช้ ซึ่งถ้าไม่ทราบ ลูกค้าสามารถติดต่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของโรงพิมพ์ได้ครับ สำหรับลูกค้าที่ต้องการออกแบบมาเลย ให้ทำสันเผื่อให้เยอะมาไว้ก่อนนะครับ และต้องทำแบบให้สามารถแก้ไขงานได้มาด้วยนะครับ ไม่ต้องรวมเลเยอร์มา ไม่ได้เซฟมาเป็นภาพ JPG ภาพเดียว ไม่อย่างนั้นทางโรงพิมพ์จะแก้ไขความหนาให้ไม่ได้

5. ตำแหน่งข้อความ รูปภาพ

ชื่อหนังสือ / ตัวหนังสือ / คำบรรยายต่าง ๆ / ราคา / บาร์โค้ด / ชื่อผู้แต่ง / รูปภาพ / ฯลฯ ควรจะเว้นให้ห่างจากขอบกระดาษทุกด้านอย่างน้อย 8-10 มม. การที่วางตัวหนังสือชิดขอบกระดาษมากเกินไป นอกจากจะทำให้ภาพรวมของงานดูรก อึดอัดคับแคบแล้ว ยังมีโอกาสที่จะโดนตัดทิ้งอันเนื่องมาจากกระบวนการพิมพ์ด้วยนะครับ โรงพิมพ์จะแจ้งให้ลูกค้าทราบว่ามีจุดใดที่ควรแก้ไข ขยับ ปรับตำแหน่ง เพื่อให้ลูกค้าได้แก้ไขก่อนพิมพ์ครับ

ข้อความถูกออกแบบมาชิดขอบกระดาษมากเกินไป

ข้อความถูกออกแบบมาชิดขอบกระดาษมากเกินไป

6. ตำแหน่ง SPOT UV / ปั๊มนูน

สำหรับงานหน้าปกหนังสือที่มีใส่ SPOT UV หรือปั๊มนูนเอาไว้ หากไม่ได้ทำ Layer SPOT UV หรือปั๊มนูนแยกมาต่างหาก ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. สามารถดำเนินการสร้าง Layer SPOT UV ให้ได้ด้วยโปรแกรม Illustrator / Photoshop แต่ลูกค้าจะต้องระบุตำแหน่งให้ทางโรงพิมพ์ด้วยนะครับ สำหรับในกรณีที่ลูกค้าสร้าง Layer SPOT UV หรือปั๊มนูนมาให้เอง จะต้องสร้างมาเป็น Layer สีดำเดี่ยว (K100) ถมดำเท่านั้น อ่านรายละเอียดต่อได้ในหัวข้อการสร้าง Layer SPOT UV ทางโรงพิมพ์จะเช็คตำแหน่งงานให้ว่างตรงหรือไม่อย่างไรครับ

7. ตำแหน่งปั๊มฟอยล์

คล้ายกันกับการสร้าง Layer SPOT UV / ปั๊มฟอยล์ แต่แตกต่างกันที่เนื้องานจะต้องถมสีหรือเว้นว่างด้วย ทางโรงพิมพ์จะเช็คตำแหน่งปั๊มฟอยล์ให้ว่าตรงตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ และเนื้องานมีการถมสี หรือเว้นว่างมาหรือเปล่า อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหัวข้อการสร้าง Layer ปั๊มฟอยล์

8. Barcode / QR Code

งานปกหนังสือที่มี Barcode หรือ QR Code ในกรณีที่โรงพิมพ์ทำ Barcode ให้มักจะไม่ค่อยมีปัญหาใด ๆ แต่ถ้าลูกค้าต้องการทำ Barcode มาเอง ต้องระวังอยู่ 2-3 จุดเช่น ตัว Barcode ต้องเป็นสีดำเดี่ยวเท่านั้น (ดำเดี่ยวคืออะไรอ่านได้จากที่นี่) ต้องเป็นไฟล์ Vector เท่านั้น ห้ามสร้างจาก Photoshop เพราะแท่งบาร์โค้ดจะไม่คมชัด อาจจะมีปัญหาในตอนสแกนได้ ถ้าลูกค้าสร้างบาร์โค้ดมาเอง ทางโรงพิมพ์ไม่มีกรรมวิธีตรวจสอบว่าจะสแกนได้หรือไม่ จะพิมพ์ตามที่ได้รับมานะครับ ดังนั้นลูกค้าต้องมั่นใจใน Barcode หรือ QR Code ที่ส่งโรงพิมพ์ด้วยนะครับ

บาร์โค้ด ควรออกแบบเป็นภาพเวกเตอร์ (Vector) และไม่ควรชิดขอบกระดาษมากเกินไป

บาร์โค้ด ควรออกแบบเป็นภาพเวกเตอร์ (Vector) และไม่ควรชิดขอบกระดาษมากเกินไป

9. เส้นรอยพับปก

หนังสือที่เข้าเล่มแบบไสกาวและหนังสือปกแข็ง จะต้องมีรอยพับปกทุกเล่ม โดยปกติรอยพับนี้จะกินพื้นที่จากสันหนังสือเข้ามาประมาณ 8-10 มม. (แล้วแต่ความหนาของหนังสือ) ลูกค้าบางท่านก็จงใจออกแบบกราฟฟิคให้ยื่นออกมาในบริเวณนี้ ในขณะที่ลูกค้าบางรายอาจจะเห็นว่า การมีรอยพับมาทับกราฟฟิคหรือตัวหนังสือ หรือตำแหน่ง SPOT UV ตำแหน่งปั๊มฟอยล์ แล้วดูไม่สวยงาม ทางโรงพิมพ์จะไม่มีทางทราบได้เลยว่า ลูกค้าแต่ละท่านคิดอย่างไรกับเนื้อหาตรงรอยพับนี้ ดังนั้นลูกค้าทุกท่านควรคำนึงถึงจุดนี้เอาไว้ด้วยนะครับ

หนังสือที่เข้าเล่มแบบไสกาว จะมีเส้นรอยพับปกแบบนี้เสมอ

หนังสือที่เข้าเล่มแบบไสกาว จะมีเส้นรอยพับปกแบบนี้เสมอ

10. ปีกปก

ในกรณีที่หนังสือมีปีกปก หรือมีปกพิเศษซ้อนพับทับกันอยู่ ในกรณีนี้จะต้องออกแบบตัวปีกเป็นพิเศษ สำหรับหนังสือที่มีปีกปกจะต้องบวกขนาดหน้าปกออกไปอีก 2 มม. ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คส์ขนาด A5 (145 x 210 มม.) ถ้าปกมีปีก จะต้องตั้งค่าความกว้างปกไว้ที่ 147 x 210 มม. (สำหรับทั้งปกหน้าและปกหลัง) ถ้าหนังสือเล่มนี้หนา 10 มม. เวลาตั้งค่าหน้ากระดาษในโปรแกรม Illustrator ก็จะมีขนาดดังนี้

  • หนังสือขนาด A4 (210 x 292 มม.) ต้องตั้งค่าหน้ากระดาษเป็น : กว้าง 212 + 10 + 212 = 434 x สูง 292 มม.
  • หนังสือขนาด A5 (145 x 210 มม.) ต้องตั้งค่าหน้ากระดาษเป็น : กว้าง 147 + 10 + 147 = 304 x สูง 210 มม.
  • หนังสือขนาด B5 (182 x 257 มม.)ต้องตั้งค่าหน้ากระดาษเป็น : กว้าง 184 + 10 + 184 = 378 x สูง 257 มม.
  • อย่าลืมตั้งค่าตัดตก (Bleed) ออกไปอีกด้านละ 3 มม. ด้วยนะครับ
แจ๊คเก็ตหนังสือ กับระยะที่ต้องเว้นเผื่อเอาไว้

แจ๊คเก็ตหนังสือ กับระยะที่ต้องเว้นเผื่อเอาไว้

PostEndIcon