วันนี้ทางโรงพิมพ์จะมาแนะนำเกี่ยวกับการนับหน้าและการจัดวางหน้า ว่าจริง ๆ แล้วในทางการพิมพ์เค้านับหน้ากันอย่างไรนะครับ แล้วทำไมหลาย ๆ ครั้งที่ลูกค้าขอราคากับโรงพิมพ์ไป แต่พอเวลาส่งต้นฉบับไปแล้ว ทางโรงพิมพ์แจ้งกลับมาว่าจำนวนหน้าสี่สี สองสี หรือสีสปอต ไม่ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่ลูกค้าก็นั่งนับเองกับมือ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกับโรงพิมพ์ไปซะอีก วันนี้โรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. จะมาอธิบายให้ฟังบางส่วนคร่าว ๆ เฉพาะที่เข้าใจง่าย ๆ นะครับ เพราะถ้าเจาะลึกจริง ๆ แล้วจะมีความซับซ้อนกว่านั้นอีกมาก

โดยทั่วไป เวลาลูกค้าแจ้งสเป็คงานกับทางโรงพิมพ์เพื่อขอราคา ก็มักจะคำนวณคร่าว ๆ หรือนับคร่าว ๆ เอาจากต้นฉบับที่มีอยู่ว่ามีกี่หน้าใช่มั้ยครับ โดยมากก็จะกำหนดกันเอาเองตามใจฉันว่าอยากจะให้ตรงไหนเป็นสี ตรงไหนเป็นขาวดำ ถ้าเป็นงานพิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม หรือขาวดำทั้งเล่ม ก็มักจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ แต่กับบางงาน จะเป็นงานพิมพ์ 4 สี ผสมกับงานพิมพ์ขาวดำ หรือเป็น 2 สี + ขาวดำ หรือแม้แต่ 4 สี + 2 สีก็ตาม การนับจำนวนหน้าสี จะนับตรง ๆ จากต้นฉบับเลยไม่ได้ เป็นเพราะอะไรน่ะหรือ

กรณีตัวอย่าง

ก่อนอื่น ขอยกกรณีตัวอย่างจริงของลูกค้าจริงท่านหนึ่งนะครับ ลูกค้าท่านนี้ขอใบเสนอราคากับทางโรงพิมพ์มาว่า ต้องการพิมพ์นิตยสารขนาด A4 จำนวน 16 หน้า เข้าเล่มแบบเย็บมุงหลังคา มีหน้าสี่สี 2 หน้าด้วยกันคือหน้า 9-10 ส่วนที่เหลือพิมพ์เป็นขาวดำ เรามาดูกันนะครับว่า ในมุมมองของโรงพิมพ์ เราคำนวณหน้ากันอย่างไร

แม่พิมพ์ 1 ชุด จะพิมพ์ได้หลายหน้า

โรงพิมพ์ไม่ได้พิมพ์งานทีละ 1 หน้าเหมือนที่ลูกค้าคิด

เวลาโรงพิมพ์พิมพ์หนังสือหรือนิตยสารซักเล่มนึงนั้น เราไม่ได้พิมพ์ทีละหน้านะครับ แม่พิมพ์ 1 ชุดจะพิมพ์ได้ทีละ 4 หน้า / 6 หน้า / 8 หน้า / 10 หน้า / 12 หน้า / 16 หน้า / 24 หน้า / 32 หน้า แล้วแต่ขนาดของงานและเครื่องพิมพ์ นั่นหมายความว่า หนังสือหน้าที่ 1 อาจจะถูกจับไปมัดพิมพ์รวมกับหน้าที่ 12 หรือหน้าที่ 13 หรือหน้าที่ 20 ก็เป็นไปได้

งานของลูกค้าท่านนี้ใช้แม่พิมพ์ 2 ชุดด้วยกันดังนี้

แม่พิมพ์ชุดที่ 1 ประกอบไปด้วยหน้า 1/4/5/8/9/12/13/16
แม่พิมพ์ชุดที่ 2 ประกอบไปด้วยหน้า 2/3/6/7/10/11/14/15

แม่พิมพ์ 1 ชุด จะพิมพ์ได้หลายหน้า

เมื่อได้รายละเอียดจากลูกค้ามา ก็ต้องมาคิดก่อนว่าจะจัดวางอย่างไร

ขั้นตอนนี้จะเรียกว่าการเลย์งานลงแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของโรงพิมพ์ ปัจจัยที่จะคอยควบคุมว่าหน้าไหนจะไปมัดรวมอยู่กับหน้าไหนนั้นมีด้วยกันหลายอย่างและซับซ้อนเกินกว่าที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายในระยะเวลาอันสั้น มีทั้งเทคนิค รายละเอียด และข้อจำกัดแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละงาน ไม่มีสูตรสำเร็จที่ดีที่สุดแบบตายตัว การเพิ่มหรือลดเพียงแค่ 1 หน้า อาจจะต้องทำให้โรงพิมพ์ทำการเลย์งานใหม่ทั้งหมดก็เป็นได้

จากกรณีตัวอย่าง ความคาดหวังของลูกค้าท่านนี้คือต้องการจะลดค่าใช้จ่ายด้วยการพิมพ์ขาวดำ และพิมพ์สี่สีเฉพาะหน้าที่ต้องการ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะหน้าต่าง ๆ ถูกเอาไปมัดรวมในแม่พิมพ์เดียวกัน เราอาจจะทำแม่พิมพ์ทั้งสองชุดไม่เหมือนกันได้นะครับ เช่นชุดแรกอาจจะเป็นแม่พิมพ์สี่สี ในขณะที่ชุดที่สองเป็นแม่พิมพ์ขาวดำ แต่นั่นแปลว่าหน้าทั้งหมดที่อยู่ในชุดนั้น ๆ ต้องมีลักษณะเหมือนกัน ถ้าสี่สี ก็ต้องสี่สีด้วยกันทั้งหมด

การเพิ่มหรือลดแค่ 1 หน้า อาจจะเปลี่ยนทุกอย่างไปโดยสิ้นเชิง หรือไม่เปลี่ยนอะไรไปเลยก็ได้

จากกระบวนการเลย์งานข้างต้น สังเกตว่ามันจะมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่นะครับ  เช่น
– ต่อให้พิมพ์สี่สีแค่หน้าเดียว แต่ก็ต้องทำแม่พิมพ์ 1 ชุดอยู่ดี เช่นถ้าต้องการหน้า 9 เป็นหน้าสี่สี แต่เนื่องจากหน้าอื่น ๆ เช่น 1/4/5/8…. ก็อยู่ในแม่พิมพ์ชุดเดียวกัน เหมือนโดนบังคับให้ทำเป็นหน้าสี่สีไปโดยปริยาย ดังนั้นถ้าปรับหน้าเหล่านี้ให้เป็นสี่สี ก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด ราคาเท่าเดิม
– แต่ถ้าเพิ่มหน้าสีเข้ามาอีก 1 หน้า แต่ดันเป็นหน้า 10 แต่เนื่องจากหน้า 9 และหน้า 10 อยู่คนละแม่พิมพ์กัน ก็กลายเป็นว่าต้องทำแม่พิมพ์สี่สี 2 ชุดด้วยกัน การทำหน้าสีมาในลักษณะนี้ เสมือนหนึ่งว่าทำหน้าสีเพิ่มเป็นสองเท่า จาก 8 หน้าเป็น 16 หน้าเลยครับ ลูกค้าก็จะงงว่าทำไมราคากระโดดขึ้นสูง ทั้ง ๆ ที่เพิ่มหน้าสีเข้ามาแค่หน้าเดียวเอง

การนับหน้าถือเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง

การวางหน้างานมีขั้นตอน เทคนิค และรายละเอียดที่มาก สามารถปรับเปลี่ยนพลิกแพลงได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยอย่างที่บอกไปครับ ซึ่งเป็นหน้าที่ของโรงพิมพ์ในการคิดคำนวณ แต่โดยรวมแล้วมีหลักการง่าย ๆ อยู่แค่นิดเดียวว่า โรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี.จะจัดวางหน้างานให้เหมาะสมที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด เสียเศษน้อยที่สุด ทำงานง่ายที่สุด คุ้มค่าและประหยัดที่สุดในมุมมองของลูกค้า บางครั้งการตัดหน้าออกแค่หน้าเดียว การสลับหน้า การเลื่อนหน้า หรือแม้แต่การเพิ่มหน้า แต่ทำให้ราคาโดยรวมลดลงไปได้เยอะ ทางโรงพิมพ์ก็จะแนะนำให้ลูกค้าเลือกวิธีนี้นะครับ

แล้วเราจะจัดวางหน้ากันอย่างไรดี

วิธีการวางหน้าสี/ขาวดำ มีขั้นตอนซับซ้อนและเปลี่ยนไปตามลักษณะงานก็จริง แถมเพิ่งจะบอกอยู่ว่าทำออกมาเป็นสูตรสำเร็จไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้น จากประสบการณ์ของทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. พบว่าจะมีแพทเทิร์นซ้ำ ๆ อยู่ไม่กี่อย่างที่มักจะทำกันมา และได้ผลดี ง่ายต่อการคำนวณหน้าครับ นั่นก็คือ สูตร 4 หน้าครับ

สูตร 4 หน้าคืออะไร มันก็คือการวางงานทีละ 4 หน้านั่นเองครับ คือไม่ว่าหนังสือของเราจะมีกี่หน้าก็ตาม การวางหน้าทีละ 4 จะทำให้เราจัดหน้าได้ง่ายที่สุด มีโอกาสเสียเศษน้อยที่สุด ให้เราวางหน้าไว้แบบนี้ก่อนนะครับ

1-2-3-4
5-6-7-8
9-10-11-12
13-14-15-16
17-18-19-20
21-22-23-24
ไล่ทีละ 4 หน้าไปเรื่อย ๆ
…..

..
.

หลังจากนั้นค่อยมาเลือกว่าจะให้ชุดไหนเป็นงานสี่สี สองสี หรืองานพิมพ์ขาวดำ ยกตัวอย่างเช่นงาน 40 หน้า เวลาจัดวางหน้า สามารถจัดออกมาได้ประมาณนี้

หน้า 4 สี : 1-2-3-4
หน้า 1 สี : 5-6-7-8
หน้า 1 สี : 9-10-11-12
หน้า 4 สี : 13-14-15-16
หน้า 1 สี : 17-18-19-20
หน้า 1 สี : 21-22-23-24
หน้า 1 สี : 25-26-27-28
หน้า 1 สี : 29-30-31-32
หน้า 4 สี : 33-34-35-36
หน้า 1 สี : 37-38-39-40

สรุปหนังสือเล่มนี้มีทั้งหมด 40 หน้า เป็นหน้าสี่สี 12 หน้า ขาวดำ 28 หน้า การซอยหน้าให้ย่อยจนเหลือ 4 หน้าในลักษณะนี้มีข้อดีคือ วางหน้าง่าย เสียเศษน้อย มั่นใจได้ว่าไม่มีหน้าคร่อมยกกันอย่างแน่นอน ทำงานสะดวก ประหยัดและคุ้มค่า

การใช้ Excel มาช่วยในการวางแผน วางหน้าหนังสือ

สามารถใช้ Excel มาช่วยในการวางแผน วางหน้าหนังสือ ได้สะดวกขึ้น

สูตร 4 หน้านี้ ใช้ได้กับหนังสือขนาดมาตรฐานทุกขนาด ที่เป็นการเข้าเล่มแบบไสกาว เช่น A4, A5, A6, B4, B5, B6 แต่ถ้าเป็นขนาดจตุรัส จะเป็นสูตร 6 หน้าแทน คือจัดเป็นชุด ๆ ละ 6 หน้านั่นเอง ในกรณีที่เป็นการเข้าเล่มแบบเย็บมุงหลังคา การนับหน้า จัดเรียงหน้าจะซับซ้อนกว่านี้มาก แนะนำให้ทำทั้งเล่มให้เหมือนกันเลยจะดีกว่าครับ (สี่สีทั้งเล่ม หรือสองสีทั้งเล่ม หรือขาวดำทั้งเล่ม)

แล้วถ้าต้องการเรียงหน้าแบบอื่นล่ะ จะทำได้ไหม

จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะจัดเรียงหน้าแบบไหนมา จะทำหน้าสีสลับกับขาวดำก็ยังได้ จะแทรกทีละ 2 หน้า 3 หน้า ทางโรงพิมพ์ก็สามารถทำให้ได้ทั้งหมดครับ เพียงแต่ลูกค้าจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายไปโดยไม่จำเป็น สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในการจัดเรียงหน้าคือ ทำแม่พิมพ์ออกมา 10 ชุด แต่ละชุดมีหน้าสีอย่างละหน้า ซึ่งถ้าจะทำอย่างนี้จริง ๆ สู้ทำเป็นหนังสือสี่สีไปทั้งเล่มเลยจะดีกว่าครับ การปรับ / ขยับ / เลื่อน / เพิ่ม / ลด หน้าเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะทำให้เราประหยัดลงไปได้มาก

ตัวอย่างหน้าสีที่แทรกกระจายไปในเล่ม

ตัวอย่างหน้าสีที่แทรกกระจายไปในเล่ม  แบบนี้ถือว่าสิ้นเปลืองแม่งพิมพ์ค่อนข้างมาก  ไหน ๆ จะเสียค่าแม่พิมพ์สี่สีไปแล้ว  ควรทำบางหน้าให้กลายเป็นสี่สีไปด้วยเลยจะคุ้มกว่า  เพราะไม่ได้เสียอะไรเพิ่ม

เวลาโรงพิมพ์เสนอราคา จะเสนอแบบสูตร 4 หน้าเสมอ

เนื่องจากเวลาลูกค้าขอใบเสนอราคา มักจะแจ้งรายละเอียดงานมาคร่าว ๆ เช่น มีหน้าสองสี 20 หน้า ขาวดำ 100 หน้า ส่วนใหญ่แล้วโรงพิมพ์จะยังไม่ทราบว่าการเรียงหน้าของลูกค้าเป็นอย่างไร ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. จะเสนอราคาโดยจะสันนิษฐานว่าสามารถจัดหน้าลงด้วยสูตร 4 หน้าเสมอ เมื่อได้รับไฟล์งานต้นฉบับมาแล้ว พบว่ามีการเรียงหน้าที่ผิดออกไป ไม่สามารถจัดให้ลงล็อคการพิมพ์ได้ อาจจะต้องมีการปรับปรุงใบเสนอราคานะครับ

สรุปการวางหน้าแบบสั้น ๆ เข้าใจง่าย

  • ถ้ายังไม่ทำต้นฉบับ ควรปรึกษาทางโรงพิมพ์ก่อน
  • ถ้าอยากทำเลยโดยไม่ปรึกษา ก็สามารถวางโครงหนังสือทีละ 4 หน้าได้เลย
  • ไม่อยากเรียงทีละ 4 หน้า อยากแทรกกระจาย ๆ เข้าไปในเล่มก็ทำได้เช่นกัน
  • แต่ราคาจะแพงกว่า ทำงานยากกว่า และก็สิ้นเปลืองมากกว่า
  • สูตร 4 หน้านี้ ใช้ได้กับหนังสือเข้าเล่มแบบไสกาว ขนาดมาตรฐานทุกขนาด เช่น A4, A5, A6, B4, B5, B6
  • ถ้าเป็นหนังสือเข้าเล่มแบบไสกาว ขนาดสี่เหลี่ยมจตุรัส ให้วางเป็นชุด ๆ ละ 6 หน้าแทน
  • ถ้าเป็นหนังสือเย็บมุงหลังคา แนะนำว่าไม่ควรผสมหน้า 4 สี / 2 สี / 1 สี เข้าด้วยกัน

How to count page

PostEndIcon