หลาย ๆ คนที่ทำงานด้านการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านใดก็ตาม หรือเป็นผู้ที่จะต้องมีเหตุให้เลือกสีมาใช้งาน เช่น ผสมสีทาบ้าน สีผ้าเพื่อมาตัดเย็บ สีบนหน้าเว็บไซต์ รวมถึงไปสึที่ใช้ในงานพิมพ์ คงจะเคยได้ยินว่าสีแพนโทนเบอร์ xxx กันมาบ้างนะครับ  แต่ลึก ๆ แล้วก็ไม่ได้เข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร  ทำไมหลาย ๆ โรงพิมพ์ถึงมีปัญหากับสี PANTONE ซึ่งอันดับแรกสุดเลยต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า สี PANTONE ไม่ใช่สี CMYK และสี CMYK ก็ไม่ใช่ PANTONE ทั้งสองอย่างเป็นระบบสีคนละระบบกัน สามารถเทียบเคียงกันได้ แต่ใช้ทดแทนกันตรง ๆ ไม่ได้ แล้วจะมีวิธีอย่างไรให้สามารถทำงานพิมพ์ด้วยระบบสีแพนโทนได้ ซึ่งวันนี้ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. จะมาเล่าให้ฟังว่าระบบสีของแพนโทนมันเป็นอะไร ทำงานยังไงกันแน่ครับ

PANTONE (แพนโทน) คืออะไร

PANTONE (แพนโทน) เป็นหนึ่งในมาตรฐานของระบบสี ที่กำหนดโดยบริษัท Pantone ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่าเป็นหนึ่งในมาตรฐาน ก็เป็นเพราะว่า มาตรฐานระบบสีที่ใช้กันในปัจจุบันนั้น ไม่ได้มีแค่แพนโทนเพียงมาตรฐานเดียว แต่ยังมีมาตรฐานอื่น ๆ จากประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศด้วยกัน เช่น มาตรฐาน DIC จากบริษัท DIC และมาตรฐาน TOYO จากบริษัท TOYO จากประเทศญี่ปุ่น มาตรฐาน HKS จากประเทศเยอรมัน มาตรฐานของสีแต่ละบริษัทนั้น ไม่ได้ใช้งานแค่หมึกพิมพ์เพื่องานพิมพ์เพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงสีพ่นรถยนต์ สีทาบ้าน หมึกย้อมผ้า สีที่ใช้แวดวงแฟชั่น และการตกแต่งบ้านด้วย ซึ่งระบบที่ได้รับการยอมรับเป็นสากลและใช้กันถูกใช้กันมากที่สุด และน่าจะคุ้นหูคนไทยมากที่สุดก็คือระบบ PANTONE (แพนโทน) ของ USA นั่นเองครับ ตัวระบบสีของทางบริษัท PANTONE จะแบ่งออกเป็น 2 หมวดด้วยกัน คือหมวด PMS (PANTONE Matching System) ซึ่งเป็นระบบสีสำหรับงานพิมพ์ งานแพ็คเก็จจิ้ง ดิจิตอลดีไซน์ที่ใช้งานบนคอมพิวเตอร์และมือถือ และหมวด FHI (Fashion Home & Interiors) เป็นระบบสีที่ใช้กับ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง ระบบพ่นสีผ่าน Airbrush ระบบพ่นสีสำหรับรถยนต์ ฯลฯ เนื่องจากเราเป็นโรงพิมพ์ เราก็จะมาเน้นกันที่ระบบ PMS นี้เป็นหลักนะครับ

สาเหตุที่ต้องมีระบบสีขึ้นมาก็เพราะว่า เพื่อให้การสื่อสารระหว่างดีไซเนอร์ นักออกแบบ นักตกแต่ง โรงพิมพ์ ฯลฯ กับลูกค้า มีจุดที่ใช้อ้างอิงได้ว่ากำลังพูดถึงสีอะไรกันแน่ เพราะลำพังบอกว่าอยากได้สีเขียว แต่เฉพาะเขียวก็มีเป็นร้อยเป็นพันเฉดด้วยกัน  ชื่อสีที่คิดกันขึ้นมาแต่ละชื่อนั้นก็สุดจะพิสดารและคาดเดาได้ลำบาก  เขียวหัวเป็ด  เหลืองมะนาว ขาวดิจิตอล  ดำเมี่ยม  เหลืองอำพัน  แดงเลือดนก  ฯลฯ  ดังนั้น บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสี ก็เลยพยายามสร้างมาตรฐานของตัวเองขึ้นมา เพื่อที่จะระบุได้อย่างแน่ชัดว่า สีนี้คือสีอะไร ด้วยการสร้าง Code เป็นตัวเลขแทนที่จะเป็นชื่อเรียก เช่น เขียวหัวเป็ด อาจจะหมายถึงสี PANTONE เบอร์ P126-8C เป็นต้น รวมถึงอัตราส่วนในการผสมสีด้วยว่า สี P126-8C นี้ จะต้องผสมอย่างไรถึงจะได้สีนี้ออกมา

ในระบบแม่สีปกติที่เราเคยเรียนกันตั้งแต่สมัยอนุบาลจะมีอยู่ 3 สี คือ แดง เหลือง และน้ำเงิน ผสมกันออกมาได้หลายเฉดสี หรือถ้าเป็นจอ LCD/LED มอนิเตอร์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็จะมีแม่สี 3 สีเหมือนกัน คือสี แดง เขียว และน้ำเงิน แต่ละสีสามารถเปล่งความสว่างออกมาในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ได้ตั้งแต่ 0-255 ระดับ ผสมออกมาเป็นสีบนหน้าจอได้ราว ๆ 256 x 256 x 256 = 16,777,216 สี หรือที่เค้านิยมเรียกว่า 16 ล้านสีนั่นเองครับ แต่สำหรับมาตรฐานของแพนโทนนั้นจะใช้แม่สีทั้งหมด 18 สี (14 สีหลัก + ส่วนผสมอีก 4 ตัว) ด้วยกัน ฟังดูอาจจะเยอะ แต่ทั้ง 18 สีนี้แหล่ะ ที่จะผสมกันออกมาเป็นเฉดต่าง ๆ กันนับพันล้านเฉดสี เยอะกว่าสีที่หน้าจอ LCD / LED ทำได้ไม่รู้กี่เท่า ณ ปัจจุบันนี้ทาง PANTONE เอง ก็ยังคิดสีออกมาใหม่ได้เรื่อย ๆ ทุกปี ๆ ละหลายร้อยสี และเพิ่มเข้าไปใน Catalog อยู่เรื่อย ๆ รวมไปถึงยังมีการประกาศรางวัล PANTONE Color of the Year มาให้เราได้รับรู้สีใหม่ ๆ ที่สะท้อนถึงเทรนด์โลกในปีนั้น ๆ ได้เป็นระยะอีกด้วยครับ

โดยสี PANTONE PMS ฉบับมาตรฐาน จะมีอยู่ 2 เล่มด้วยกันคือ

  1. Coated (มีตัวย่อ C กำกับอยู่กับรหัสสี) ซึ่งสีรหัส Coated จะใช้กับกระดาษที่มีการขัดเคลือบผิวหน้ากระดาษมา เช่นพวกกระดาษอาร์ตมัน ผิวกระดาษจะลื่น เงาวาว หมึกลอยบนเนื้อกระดาษได้ดี สะท้อนแสงได้ดี
  2. Uncoated (มีตัวย่อ U กำกับอยู่กับรหัสสี) จะใช้กับกระดาษที่ไม่ได้มีการขัดเคลือบผิวมา เนื้อกระดาษจะมีความสาก ด้าน ดูดซับหมึกสูง สะท้อนแสงน้อย เช่นพวกกระดาษปอนด์

ซึ่งการเลือกพิมพ์สีเดียวกัน รหัสเดียวกัน ลงบนกระดาษที่ไม่เหมือนกัน มีผลทำให้สีที่ได้แตกต่างกันราวกับเป็นคนละสีเลยทีเดียว ดังนั้น จะใช้สีไหน ก็ต้องไปดูก่อนด้วยว่า เราจะทำงานกับกระดาษแบบไหน อันนี้สำคัญมากครับ ไม่อย่างนั้นทางแพนโทนเองก็คงไม่ทำแคทตาล็อกสีแยกตามเนื้อกระดาษแบบนี้แน่ เพราะทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. เคยเจอลูกค้าที่ออกแบบงานมาเพื่อพิมพ์ลงบนกระดาษอาร์ตมัน แต่เปลี่ยนใจมาพิมพ์ลงบนปอนด์แทน ลูกค้าไม่ยอมแก้สีเพราะคิดว่าไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว บางสีอาจจะไม่ค่อยต่างมาก แต่บางสีอาจจะต่างกันจนเหมือนคนละสีกันเลยทีเดียว

การผสมสีแพนโทน PANTONE ตามแบบฉบับมาตรฐาน

ทีนี้เวลาเลือกสีแพนโทนมาทำงานกับโรงพิมพ์ล่ะ เราดูสี วัดค่าสีกันอย่างไร แล้วโรงพิมพ์ทำอย่างไรถึงจะได้สีที่ลูกค้าต้องการออกมาพิมพ์งาน

ลูกค้าของโรงพิมพ์บางท่าน โดยเฉพาะบริษัทเอเจนซีด้านสิ่งพิมพ์ หรือดีไซน์เนอร์ที่อาจจะคุ้นเคยกับการทำงานพิมพ์มามาก ๆ อาจจะมีตารางสี PANTONE ไว้อยู่แล้ว หรือถ้าใครเคยใช้งานโปรแกรมของ Adobe เช่น Photoshop หรือ Illustrator ในตัวโปรแกรมเองก็จะมี Swatch ที่เป็น Color book ให้ใช้งาน เราสามารถดึงสีมาจากตรงนั้นได้

ทีนี้สมมติว่าเราได้สีที่ต้องการมาแล้ว เป็นสีรหัส PANTONE 4057 C สิ่งที่โรงพิมพ์จะต้องทำ เพื่อให้ได้สีที่ลูกค้าแจ้งมาก็คือ ไปค้นหาสูตรผสมสีจากตารางสีของ PANTONE ก่อน ว่าสีนี้มีอัตราส่วนผสมเท่าไหร่ จากตัวอย่างในภาพ จะเห็นได้ว่าสี 4057 C นี้ ต้องใช้แม่สีทั้งหมด 4 สีด้วยกัน เพื่อมาผสมกันให้ได้ 4057 C ตามที่ต้องการ 4 สีที่ว่านี้ก็คือ

1. Rhodamine Red = 20.82%
2. Yellow 012 = 13.96%
3. Violet = 1.03%
4. Trans White = 64.19%

ถ้าจะใช้หมึกพิมพ์ 1 กิโล ก็ต้องมี Rhodamine Red คิดเป็น 20.82% หรือประมาณ 208.2 กรัมนั่นเอง

ซึ่งแม่สีหลัก ๆ ของแพนโทนจะมีอยู่ด้วยกัน 14 สี ได้แก่  Process Blue, Reflex Blue, Rhodamine Red, Rubine Red, Warm Red, Pantone Purple, Pantone Violet, Pantone Yellow, Pantone Black, Pantone Green, Pantone Blue 072, Pantone Yellow 012, Pantone Orange 021, Pantone Red 032  ส่วนที่เหลืออีก 4 ตัวจะเป็นสีเบส เช่น สีขาว  สีเทา เป็นต้น  หลาย ๆ สีใน 14 ตัวนี้จะมีความเป็นนีออนอยู่ในตัว  คือมีความสว่างสะท้อนแสง  ทำให้ผสมสีได้สว่าง สดใส  กว่าปกติ

ปัญหาของโรงพิมพ์กับสีแพนโทน PANTONE

เมื่อเราออกแบบงานในคอมพิวเตอร์และมีการใช้สี PANTONE ร่วมด้วย พอมาถึงจุดนี้ เราพบปัญหาไปแล้ว 2 อย่างนะครับ  โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

ปัญหาแรก

อย่างแรกก็คือ สีที่ลูกค้าเห็นในจอมอนิเตอร์นั้น ไม่มีทางที่จะตรงกับสีจากมาตรฐาน PANTONE ได้อย่างแน่นอน เอาแค่เรื่องระบบของสีก็ไม่เหมือนกันแล้ว จอมอนิเตอร์เป็นการผสมสีกันของหลอดไฟ 3 สี แดง (R) เขียว (G) น้ำเงิน (B) ปรับระดับได้แค่สีละ 0-255 ระดับ ซึ่งผสมกันออกมาได้แค่ 256 x 256 x 256 = 16,777,216 สีเท่านั้น แต่ด้วยแม่สีของ PANTONE ที่มีมากถึง 18 สี ปรับระดับในหน่วยเป็นกรัม ปกติจะวัดกันถึงทศนิยมหลักที่ 2 หรือขยับทีละ 0.01 กรัม สามารถผสมออกมาได้นับพันล้านสี (ตราบเท่าที่ตาคนยังแยกออกอ่ะนะครับ เพราะส่วนใหญ่สีต่างกันแค่ 1 กรัม ตามนุษย์ธรรมดาไม่น่าจะสังเกตได้ถึงความต่าง) จำนวนสีที่ทำได้ก็ไม่เท่ากันแล้วครับ ไหนจะเรื่องการส่องสว่างของแสงอีก ค่าสี RGB ถึงจะมีค่าเดียวกัน แต่ถ้าปรับความสว่างหน้าจอไม่เท่ากัน สีก็ไม่เหมือนกันอยู่ดี นี่ยังไม่นับว่าหน้าจอแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น Panel type แต่ละแบบ (IPS/VA/TN) ก็ให้สีไม่เหมือนกันอยู่แล้วในตัวด้วยนะครับ ทางเดียวที่จะชัวร์ว่าลูกค้าเห็นสีแบบเดียวกันกับโรงพิมพ์แน่ ๆ ก็คือ ลูกค้าต้องมีตารางสีของ PANTONE อยู่ในมือด้วยนั่นเอง ซึ่งถ้าไม่ใช่เอเยนซีด้านสิ่งพิมพ์แล้ว แทบจะไม่มีใครมีหรอกครับ แต่ถึงต่อให้มีตารางสีอยู่ในมือ ก็ยังมีปัญหาข้อที่สองตามมาอยู่ดีครับ

ปัญหาข้อที่สอง

ด้วยกรรมวิธีการผสมสีของ PANTONE แบบนี้ การที่จะทำให้สีตรงกับที่ลูกค้าระบุมาแบบเป๊ะ ๆ 100% นั้น ทางโรงพิมพ์จะต้องสต๊อคแม่สีทั้ง 18 สี เอาไว้ด้วยกัน ทำให้ต้นทุนในการผสมสีแพนโทนด้วยวิธีนี้ มีค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองมาก อีกทั้งสีแต่ละกระป๋องนั้น มีอายุการใช้งานที่จำกัด หากปิดกระป๋องไว้อาจจะเก็บได้ถึง 1-2 ปี แต่หากเปิดกระป๋องแล้ว จะต้องใช้ให้หมดภายในไม่กี่สัปดาห์ ไม่อย่างนั้นสีก็จะเสื่อมสภาพไป  สีที่เหลือจากการใช้งานก็ต้องทิ้งไปทั้งหมด  จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. ผมพบว่า ในทางปฏิบัติ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะผสมสีด้วยแม่สี 18 สี ด้วยสาเหตุเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ๆ จนไม่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ งานที่เหมาะสำหรับการผสมสีด้วยวิธีนี้เหมาะกับงานที่ต้องการความแม่นยำของสีในขั้นสูงสุด และควรจะต้องเป็นงานที่ยอดพิมพ์ต่อครั้งสูง เพื่อให้การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ทำงาน และควรเป็นงานที่พิมพ์ต่อเนื่อง เพราะถ้าเป็นงานที่พิมพ์ครั้งเดียวจบ ก็ไม่คุ้มค่ากับการสต๊อกสีเอาไว้อยู่ดี ดังนั้น งานที่เหมาะกับการผสมสีแบบนี้ก็เช่น การพิมพ์สีที่เป็นอัตลักษณ์ขององค์กร สีแบรนด์ สีโลโก้ สีพวกนี้ห้ามผิดเพี้ยนแม้แต่นิดเดียว และบริษัทใหญ่ ๆ ก็มักจะพิมพ์งานทีละเยอะ ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ อยู่แล้ว หรืองานแพ็คเก็จจิ้งสินค้า ที่พิมพ์ต่อเนื่องตลอดทั้งปี สีของกล่องบรรจุภัณฑ์ห้ามผิดเพี้ยนเป็นต้น ซึ่งถ้าจะว่ากันตามตรงแล้ว มีโรงพิมพ์น้อยมากแทบนับโรงได้ ที่จะมีระบบการผสมสีแพนโทนแบบเต็มรูปแบบไว้ในบริษัท

แล้วถ้างั้น โรงพิมพ์ส่วนใหญ่เค้าแก้ปัญหานี้กันอย่างไรล่ะ

การผสมสีแพนโทน PANTONE ในทางปฏิบัติ

อย่างที่บอกไปนะครับ ในทางปฏิบัติแล้ว มีโรงพิมพ์น้อยมากที่จะมีแม่สีสต๊อคไว้ถึง 18 สีด้วยกัน ดังนั้นทุกโรงพิมพ์จึงต้องใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น ซึ่งก็คือการจำลอง หรือเลียนแบบสี PANTONE นั่นเอง  การจำลองนี้ทำได้แค่เทียบสีให้ใกล้เคียงกับสีแพนโทนได้เพียงเท่านั้น ไม่สามารถทดแทนกันได้แบบ 100% อย่างแน่นอน  ซึ่งหลัก ๆ แล้วมักจะใช้กัน 2 วิธีนี้ครับ

1. ใช้แม่สีที่น้อยลง

จากเดิมที่ต้องสต๊อคแม่สีไว้ถึง 18 สี ก็อาจจะลดลงเหลือแค่ 4-8 สี แทน ด้วยวิธีนี้ถึงแม้จะไม่ได้ทำให้สีตรงกับ PANTONE แบบ 100% แต่ก็สามารถผสมให้ใกล้เคียงกับ PANTONE ได้พอสมควร และเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผลแล้ว เลยเป็นหนึ่งในทางเลือกที่บางโรงพิมพ์ใช้กัน ซึ่งส่วนสำคัญที่จะทำให้สีที่ผสมออกมาใกล้เคียงกับตัวอย่างได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น  ความยากง่ายของสี PANTONE ที่เราเลือก, ความชำนาญของช่างพิมพ์ที่ผสมสี หรือจำนวนแม่สีที่ใช้ผสม พวกนี้มีผลหมดครับ

ข้อจำกัดของวิธีนี้ก็คือ จะสามารถเทียบสีได้เฉพาะกับสีที่พิมพ์ลงบนวัสดุมาแล้วเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างงานเก่า ตัวอย่างสีจากนิตยสาร สิ่งพิมพ์อื่น ๆ หรือไกด์สีที่พิมพ์มาแล้วบนกระดาษ การผสมแบบนี้ไม่สามารถเทียบสีที่ปรากฎบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ รวมไปถึงประเภทของวัสดุที่นำมาเป็นตัวอย่างก็จำกัดเช่นกัน ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. เคยเจอลูกค้านำซองขนมมาเป็นตัวอย่างสี แบบนี้จะไม่สามารถเทียบสีได้นะครับ เพราะถุงขนมทำมาจากวัสดุประเภทฟอยล์ สีที่พิมพ์ทับลงไปจะมีความเงาวาวคล้ายสี Metallic แบบนี้การผสมด้วยวิธีธรรมดาไม่สามารถจำลองได้แน่นอน

การผสมสีในลักษณะที่พูดมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนถึงตรงนี้ เราจะเรียกว่าเป็นการผสมสีแบบสีสปอต หรือสีโซลิด (SPOT / SOLID) เป็นการผสมสีให้เสร็จนอกแท่นพิมพ์ ซึ่งเป็นวิธีที่เราใช้กับการพิมพ์งานที่ไม่ใช่ 4 สี CMYK ตามปกติด้วย เช่นงานพิมพ์ 2 สี ก็สามารถผสมสี Spot มา 2 สี (โดยปกติจะเป็นสีไปในทางโทนเข้มสีนึง และสีในโทนอ่อนสีนึง) แบบนี้ก็ได้เช่นกันครับ ข้อดีของการผสมสีสปอต  ก็คือ งานพิมพ์ที่ได้จะมีความเข้ม คมชัด เนื้อสีแน่น เพราะเป็นการพิมพ์สีแบบทึบตัน ไม่มีการสร้างเม็ดสกรีนหรือจุดสีขึ้นมา ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการพิมพ์เม็ดสกรีนเพี้ยน มีความเรียบเนียนของงานมากกว่าการจำลองสี PANTONE อีกแบบหนึ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ครับ

2. ใช้การจำลองสี PANTONE ด้วยการพิมพ์ Process 4 สี CMYK ธรรมดา

ในขั้นตอนของการพิมพ์งานออฟเซ็ตในปัจจุบัน จะพิมพ์งานผ่านแม่พิมพ์ที่เรียกว่า เพลท (Plate) มีทั้งหมด 4 เพลทด้วยกันตามแม่สีที่เราใช้ ซึ่งแม่สีทั้งหมด 4 สีได้แก่

Cyan (อ่านว่า ไซ-อัน C = สีฟ้า)
Magenta (M = สีชมพู)
Yellow (Y = สีเหลือง)
Key (K = สีดำ K มาจาก Key ไม่ใช่ Black อย่างที่หลายคนเข้าใจ)

ซึ่งทั้ง 4 สีนี้จะแบ่งระดับได้แค่ 100 ระดับ จาก 0-100 (ต่างจากระบบ RGB ที่แบ่งได้ 255 ระดับ) อยู่บนเพลท 4 เพลท ผ่านเครื่องพิมพ์ทั้งหมด 4 ป้อมพิมพ์ (เพลทละป้อม ป้อมละสี) ป้อมพิมพ์แรกจะพิมพ์สีนึงออกมาก่อน แล้วป้อมที่สองก็จะพิมพ์อีกสีทับลงไป วนไปจนครบทั้ง 4 ป้อม พูดง่าย ๆ ก็คือเราพิมพ์งานทีละสี ซ้อนทับกันทั้งหมด 4 ครั้ง ผสมออกมาเป็นสีในรูปแบบที่เราเห็นกันตามงานพิมพ์ทั่วไป เนื่องจากแบ่งระดับได้ 0-100 ระดับ (รวม 101 ระดับ) ระดับตรงนี้บางทีจะเรียกว่าระดับของเม็ดสกรีน ทำให้สามารถผสมเป็นสีออกมาได้ทั้งหมด 101 x 101 x 101 x 101 = 104,060,401 สี หรือประมาณร้อยกว่าล้านสีเท่านั้น เราจะใช้การแม่พิมพ์เพียงแค่ 4 สีนี้ ผสมปนเปกันเป็นสีต่าง ๆ ออกมาเป็นงานพิมพ์แบบที่เราเห็นกันทั่วไป และเป็นเพียงแค่การจำลองเทียบสีกับระบบแพนโทนเท่านั้น เพราะลำพังแค่แม่สีเพียงแค่ 4 สี ยังไงก็ไม่มีทางที่จะผสมออกมาแล้วให้เทียบกับกับ PANTONE ที่ใช้แม่สี 18 สีได้อย่างแน่นอน

แถมสี PANTONE บางสีมีส่วนผสมของสีนีออน (Neon) เข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มความสว่าง ซึ่งถ้ามีส่วนผสมของสีนีออนเข้าไป ความสว่างของภาพที่ได้ยิ่งจะสว่างกว่าการพิมพ์ด้วย CMYK อย่างเห็นได้ชัด

วิธีที่จะทำให้ใกล้เคียง PANTONE มากเข้าไปอีกก็คือ เพิ่มแม่สีเข้าไป ซึ่งบางโรงพิมพ์ก็จะเพิ่มไปอีก 2 สี คือ สีเขียว (Green) และสีส้ม (Orange) รวมเป็น 6 สี (Hexachrome) กลายเป็น CMYKOG หรือบางโรงพิมพ์สามารถเพิ่มเข้าไปได้ถึง 8 สีด้วยกัน นอกจากจะมี CMYK + เขียว (Green) + ส้ม (Orange) แล้ว ก็ยังเพิ่มสีเหลืองอ่อน (LY Light Yellow) และ สีดำอ่อน (Light Key) เพิ่มมิติความลึกของสีเข้าไปได้อีกหลายระดับ สามารถขยับขอบเขตของสีให้ใกล้เคียงกับ PANTONE ได้มากยิ่งขึ้น แต่แน่นอนว่า ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวเช่นกัน ซึ่งถ้าจะว่ากันตามตรงแล้ว งานพิมพ์สำหรับบุคคลทั่ว ๆ ไป การที่จะต้องพิมพ์ถึง 6-8 สีนั้น เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มเอาซะเลย ถ้าไม่ได้เป็นงานพิมพ์ที่เน้นสุด ๆ เกี่ยวกับความถูกต้องของสี บางทีเราอาจจะต้องชั่งน้ำหนักดูดี ๆ ระหว่างเงินที่เสียไปกับสีที่ได้มาครับ

PANTONE CMYK มาตรฐานสำหรับการพิมพ์ด้วยระบบสี CMYK โดยเฉพาะ

แต่ถ้าเราต้องการประหยัดงบประมาณด้วยการพิมพ์แค่ 4 สีมาตรฐาน CMYK แล้วอยากให้สีใกล้เคียงกับแพนโทนที่สุดล่ะ จะทำอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ทาง PANTONE เองก็รู้ดีครับว่าโรงพิมพ์ส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ ใช้วิธีพิมพ์สี Process CMYK กันทั้งนั้น  PANTONE จึงได้ออกตารางไกด์สี PANTONE สำหรับ CMYK มาโดยเฉพาะ  2 ระบบ  นั่นก็คือ

  • PANTONE CMYK : เป็นการใช้สีเพียง 4 สี CMYK มาผสมเป็น PANTONE รหัสของสีจะเปลี่ยนไป  เช่น  P 112-6 C  (P ตัวแรกบอกให้รู้ว่าคือสี Process  ไม่ใช่สี Solid ตามมาตรฐาน / C ตัวหลังบอกว่าเป็นกระดาษแบบ Coated หรือกระดาษจำพวกอาร์ตมัน)
  • PANTONE Color Bridge : ใช้สำหรับกรณีที่ลูกค้าเลือกสี PANTONE Solid มา  แล้วต้องการแปลงสีจาก Solid ไปเป็น Process  ตัว Bridge จะมีการเทียบสีให้ดูว่า สี Process CMYK สีไหนที่มีความใกล้เคียงกับสี PANTONE Solid ตามมาตรฐานมากที่สุด

ทั้ง 2 ระบบนี้  เป็นการใช้สี CMYK ล้วน ๆ ซึ่งจำนวนสี ความสด ความสว่าง ความแน่นของสี เข้มข้น จัดจ้าน จะไม่สามารถเทียบเคียงกับ PANTONE มาตรฐานหลักได้เลย  แต่การันตีได้แน่นอนว่า  เป็นชุดสีที่สามารถพิมพ์กับโรงพิมพ์ระบบออฟเซ็ตได้ทั่วไป  แม้สีจะไม่สดเท่าแต่อย่างน้อยลูกค้าและโรงพิมพ์ก็มีมาตรฐานกลางจากตัว PANTONE ในการเทียบสีให้เข้าใจตรงกัน   ในตัวแคทตาล็อกของ PANTONE Color Bridge เอง ยังเห็นได้ชัดเจนว่า สี PANTONE Solid บางสี มีความแตกต่างกับสี PANTONE CMYK อย่างมาก หลาย ๆ ครั้งลูกค้าที่ไม่เข้าใจก็จะนึกว่าทางโรงพิมพ์พิมพ์สีเพี้ยน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่เลยครับ มันเป็นข้อจำกัดของระบบสีเอง และข้อจำกัดนี้ไม่ใช่แค่ข้อจำกัดของโรงพิมพ์ใดโรงพิมพ์หนึ่ง แต่เป็นระบบพิมพ์ออฟเซ็ตที่ใช้กันทั้งโลกเลยครับ

สรุปแล้ว  วิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมงานเพื่อให้ได้สีที่ต้องการก็คือ เลือกใช้สีจาก PANTONE Bridge หรือ PANTONE CMYK นั่นเองครับ

ทางโรงพิมพ์แนะนำว่าลูกค้าที่ซีเรียสเรื่องสีมาก ๆ ถ้าไม่ได้มีตัว PANTONE Bridge หรือ PANTONE CMYK นี้อยู่ในมือ ทางโรงพิมพ์วัชรินทร์ พี.พี. มีไกด์สีทั้ง 2 ระบบนี้รวม 4 เล่ม ครบถ้วนสำหรับการพิมพ์ด้วยสี CMYK ทั้งหมด  ลูกค้าควรจะแวะมาตรวจสอบและเทียบสีของจริงไปพร้อม ๆ กันกับทางโรงพิมพ์ครับ ความเข้าใจจะได้ตรงกัน และจะทำให้งานพิมพ์สุดท้ายที่ออกมาไม่ผิดจากที่คาดหวังจนเกินไป

สรุป

เมื่อไหร่ที่ควรใช้สี PANTONE งานแบบไหนที่เหมาะกับการผสมสี PANTONE มาตรฐานปกติ

  • เหมาะกับงานที่ต้องการความถูกต้องของสีสูงมาก เช่น โลโก้องค์กร สีอัตลักษณ์องค์กร
  • เหมาะกับงานที่ต้องการความนิ่ง ความคงเส้นคงวาของสี
  • เหมาะกับงานที่มีปริมาณสูง พิมพ์ระยะยาวต่อเนื่อง เช่น กล่องสินค้าบรรจุภัณฑ์ สีของสินค้าล๊อตแรก ควรจะเหมือนกันล๊อตหลังเป็นต้น
  • ลูกค้าสามารถยอมรับกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามาได้ ทั้งในเรื่องของการผสมสี เทสสี ปรู๊ฟสี เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น

เมื่อไหร่ที่ไม่ควรใช้สี PANTONE  หรือใช้เป็นตัว PANTONE CMYK

  • ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย
  • งานพิมพ์ยอดน้อย
  • เป็นการพิมพ์เพื่อใช้งานเพียงครั้งเดียว ไม่มีข้อเปรียบเทียบของล๊อตแรก ล๊อตหลัง
  • สามารถยอมรับได้กับการเทียบสีด้วยวิธีการอื่น ๆ